ความนำ
ศาสนา เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน ตั้งแต่ยุคปฐมกาลที่ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการ จนถึงยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่เต็มไปด้วยความทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นานา แต่ไม่ว่ายุคสมัยและวิถีชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คู่กับสังคมก็คือศาสนา นั่นก็เพราะว่าศาสนาเป็นแนวทางแห่งการดำรงชีวิต เป็นสถาบันทางสังคมที่คอยตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ อีกทั้งยังคอยควบคุมพฤติกรรมของสังคม และเป็นปัจจัยในการสร้างคุณค่าทางจริยธรรมและศีลธรรมให้เกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ศาสนากลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมอย่างแยกไม่ออก
จริงอยู่ที่วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ และยังเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นานัปการ แต่การยึดติดอยู่กับมันแบบสุดโต่งและลืมเลือนบทบาทที่สำคัญของศาสนาก็เป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญในการไขปริศนาที่ลี้ลับแห่งมนุษย์และจักรวาลมากเพียงใด แต่ขอบเขตของมันก็ยังมีความจำกัดอยู่ในเรื่องของสสารและสิ่งที่สัมผัสได้ ในขณะที่ยังมีอะไรอีกมากมายที่มนุษย์ยังคงต้องอาศัยศาสนามาเป็นคำตอบ อีกทั้งความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเยียวยาได้นอกจากการพึ่งพาคำสอนของศาสนาเท่านั้น
การขยายตัวของศาสนาในศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ตาม กาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า สังคมมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยปราศจากศาสนา และนับวันจำนวนของผู้ที่นับถือศาสนาก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ในทวีปแอฟริกา ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 360 ล้านคน และในทวีปเอเชีย 300 ล้านคน หรือแม้แต่ศาสนาอิสลามเองก็มีการเพิ่มขึ้นของศาสนิกชนอย่างมากมาย ในบทสัมภาษณ์ของ Ingmar Karlsson สงกุลสวีเดนประจำตุรกีกับหนังสือพิมพ์ Todays Zaman กล่าวถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของมุสลิมในยุโรปว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 3เท่าของประชากรยุโรปที่ไม่ใช่มุสลิม และมีผู้ประมาณการณ์ว่าหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีประชากรมุสลิมในยุโรปถึง 65 ล้านคน ส่วนศาสนาพุทธเองก็กลายมาเป็นศาสนาหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน อย่างศาสนาพุทธนิกายเซ็นที่ได้รับความนิยมในยุโรปและอเมริกา
พระไพศาล วิสาโล ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ศาสนากลับมารุ่งเรืองไว้ดังนี้
ก.....ความเสื่อมถอยของชุมชนแบบดั้งเดิม
การที่กระแสความทันสมัยรวมถึงบริโภคนิยมซึมซาบเข้าไปสู่สังคมที่มีประเพณีแบบดั้งเดิม ทำให้สังคมเสื่อมถอยและแตกสลาย ผู้คนเกิดความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว ในสภาพดังกล่าว ผู้คนพบว่าศาสนาหรือชุมชนทางศาสนานั้นสามารถช่วยให้ตนปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมเมืองได้ จึงหันมาพึ่งพาศาสนา
ข.....แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ การเมือง และการถูกผลักไสให้อยู่ชายขอบ
ในสภาพสังคมที่ยากจนและแร้นแค้น ผู้คนพบว่าศาสนาเป็นที่พึ่งอีกแหล่งหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความยากลำบากให้พวกเขาได้ เช่นกรณีของขบวนการอัลชัดได (El Shaddai) ในฟิลิปปินส์ที่มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ และในการชุมนุมทุกวันเสาร์ในกรุงมะนิลา ก็จะมีสมาชิกเข้าร่วมนับแสนคน
ค.....การรุกรานของความเชื่อแบบโลกิยวิสัยและวัฒนธรรมเสรีนิยมที่มีต่อศาสนา
กระบวนการสร้างความทันสมัยและการแพร่หลายของแนวคิดแบบโลกิยนิยม (secularism) ซึ่งมีผลทำให้ศาสนาถูกลดบทบาทลง ก่อให้เกิดปฏิกริยาโต้ตอบเชิงปฏิปักษ์จากกลุ่มคนเคร่งจารีต (fundamentalist)
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่นักวิชาการหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น ออกุสต์ กงต์ อันโทนี วัลเลซ มาลิโนฟสกี หรือคนอื่น ๆ ได้พยากรณ์ไว้ถึงอนาคตของศาสนานั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปทันที เมื่อเราได้ทราบถึงสถิติการนับถือศาสนาของคนในยุคปัจจุบันที่นับวันก็ยิ่งจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดสาย
แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าศาสนาจะเป็นสถาบันทางสังคมที่มนุษย์ต่างต้องการและเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา แต่หากว่าเมื่อใดที่มันไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์ (dysfunction) สังคมมนุษย์ก็จะต้องแสวงหาสิ่งทดแทนที่ดีกว่า (functional alternative) ซึ่งสิ่งทดแทนในที่นี้อาจปรากฎให้เห็นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาและลัทธิใหม่ การปฏิรูปศาสนาเดิมที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น หรือแม้แต่การลดบทบาทของศาสนาลงและนำอุดมการณ์ทางการเมือง (ideology) เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยมาแทนที่ และทำให้รัฐกลายเป็นรัฐแบบโลกิยนิยม (secular state) โดยมีตัวผู้นำและรัฐธรรมนูญมาเป็นศูนย์รวมจิตใจและเครื่องยึดเหนี่ยวแทนศาสดาและคัมภีร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในประเทศตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่พยายามทุกวิถีทางในการที่จะสร้างรัฐแบบโลกิยนิยม โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์ร่วมระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ หรืออย่างเช่นในยุคที่คอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ ประเทศคอมมิวนิสต์หลาย ๆ ประเทศก็มักจะยกตัวผู้นำขึ้นมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในระดับเดียวกับศาสดาหรือผู้นำศาสนา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การนำอุดมการณ์ทางการเมืองมาแทนที่ศาสนาก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับการก่อตั้งศาสนาและลัทธิใหม่ที่ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน
ศาสนาและลัทธิใหม่ในโลก
ศตวรรษที่ 20-21 เป็นช่วงเวลาที่มีศาสนาและลัทธิใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมายในโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะแยกตัวออกมาจากศาสนาเดิม ๆ ที่มีอยู่ โดยนำคำสอนส่วนหนึ่งของศาสนาเหล่านั้นมาปรับปรุงและแก้ไขใหม่ เช่น ศาสนาบาไฮที่แยกตัวออกมาจากศาสนาอิสลาม ลัทธิศรีสัตยะไสบาบาที่แยกตัวออกมาจากศาสนาฮินดู และลัทธิมอร์มอนที่แยกตัวออกมาจากศาสนาคริสต์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีศาสนาใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมิได้มีพื้นฐานมาจากศาสนาใดเลย เช่น ลัทธิเซไกคิวเซเคียว หรือโยเร เป็นต้น
ในหนังสือ World Christian Encyclopedia มีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีศาสนาอยู่ในโลกถึง 9,900 ศาสนา โดยมีศาสนาเกิดขึ้นใหม่ 2 หรือ 3 ศาสนาทุกวัน ในจำนวนดังกล่าวมีทั้งศาสนาเดิมที่เป็นศาสนาใหญ่ และศาสนาของชนเผ่าเล็ก ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศาสนาใหม่ การศึกษาบางแห่งคาดการณ์ว่าจำนวนของศาสนาอาจมีมากกว่า 10,000 ศาสนา ซึ่งเฉพาะในญี่ปุ่นประเทศเดียวก็มีศาสนาอยู่ถึง 2 หรือ 3 พันศาสนา ส่วนในยุโรปเองก็มีกลุ่มศาสนาใหม่ไม่น้อยกว่า 1,300 กลุ่ม
การเกิดขึ้นของศาสนาและลัทธิใหม่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของศาสนาเดิมในการทำหน้าที่ทางสังคม (social function) ในการตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ทั้งในทางปัจเจกและส่วนรวม อันเป็นเหตุให้คนกลุ่มหนึ่งละทิ้งศาสนาเดิมและแสวงหาสิ่งทดแทนใหม่ที่ดีกว่า อนึ่ง การศึกษาขบวนการทางศาสนาใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันทำให้เราเห็นได้ว่า ศาสนามิได้บทบาทในตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทางด้านจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุอีกด้วย เช่นตัวอย่างของอภิมหาโบสถ์ (Megachurch) ซึ่งได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่โบสถ์ดังกล่าวมีการจัดสถานที่ให้ผู้คนพาครอบครัวไปพักผ่อนหย่อนใจ และยังมีการสนับสนุนมีการสังคมสงเคราะห์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรืออย่างกรณีของโบสถ์มวลชน (People Temple) ที่ก่อตั้งโดย Jim Jones ในปี 1957 ซึ่งเป็นลัทธิที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง ก็เพราะนโยบายของโจนส์เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนผิวดำและคนยากจน รวมไปถึงการสร้างความเสมอภาคในสังคม
ศาสนาสากล
นอกจากการเกิดขึ้นของศาสนาและลัทธิใหม่แล้ว ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ก็คือ ความพยายามในการก่อตั้งศาสนาสากล (Universal Religion) ซึ่งอาจจะเป็นการก่อตั้งศาสนาใหม่ขึ้นโดยอ้างอิงไปยังศาสนาเดิมที่มีอยู่ อย่างกรณีของศาสนาบาไฮ หรือเป็นการผนวกเอาคำสอนของศาสนาต่าง ๆ มารวมกัน อย่างกรณีของลัทธิเรลีอังส์ (Raelians) ในแคนาดา ที่รวมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า พระเยซู มุฮัมมัด และโมเสสเข้าด้วยกัน สาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดแนวคิดศาสนาสากลก็คือ การมีศาสนาหลายศาสนาเป็นเหตุให้มนุษย์แตกแยกกัน เกิดการต่อสู้และเข่นฆ่าล้างผลาญที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกันระหว่างคนต่างศาสนา เช่นสงครามครูเสดระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมที่กินเวลายาวนานเกือบ 200 ปี หรือการเข่นฆ่ากันระหว่างคนศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกายกัน เช่นการสู้รบระหว่างชาวคริสต์นิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ ซึ่งกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวคิดศาสนาสากลเชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้จะยุติลงได้หากว่ามนุษย์ทั้งหมดบนโลกมีศาสนาและความเชื่อเดียวกัน
ดร. เกดาร์ นาถ ติวารี ได้กล่าวไว้ว่า ศาสนาสากลอาจเกิดได้ด้วยวิธี 3 วิธีด้วยกัน คือ
1....ยกเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาเป็นศาสนาสากล
2....เลือกเอาลักษณะเด่น ๆ ของศาสนาต่าง ๆ ที่คนทั่วไปจะยอมรับได้มารวบรวมตั้งเป็นศาสนาใหม่
3....ตั้งศาสนาใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยองค์ประกอบของศาสนาเดิมแต่อย่างใด
แต่ถึงอย่างไร การนำแนวทางทั้งสามนี้มาใช้สร้างศาสนาสากลก็ยังดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเป็นการยากที่จะให้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ ยอมละทิ้งศาสนาเดิมของตนมานับถือศาสนาใหม่ที่เป็นศาสนาสากล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่ยกขึ้นมาจากศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือเป็นศาสนาใหม่ที่เลือกเอาลักษณะเด่นของศาสนาต่าง ๆ มารวมกัน หรือไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยไม่อ้างอิงศาสนาใดเลยก็ตาม ดังนั้นการตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่ก็คงจะไม่ก่อให้เกิดผลทางบวกเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผลทางลบที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังกรณีของศาสนาซิกข์ในอินเดียที่ก่อตั้งมาเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นศาสนาใหม่ที่มาสร้างความแตกต่างมากขึ้น
การมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองในศาสนาต่าง ๆ และสิทธิเสรีภาพในการคิดต่างที่มนุษย์ทุกคนมี ทำให้การรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทางศาสนาเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะทำได้ และถึงแม้ว่าศาสนาต่าง ๆ จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าความขัดแย้งระหว่างมนุษย์จะจบสิ้นลง ทั้งนี้ก็เพราะว่าศาสนามิใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดความแตกแยก อีกทั้งตัวของศาสนาเองก็ไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นการยึดติดกับอัตตาของมนุษย์มากกว่า โดยจะเห็นได้จากการที่คนศาสนาเดียวกันเอง หรือแม้แต่เชื้อชาติเดียวกัน แต่บางครั้งก็เกิดข้อพิพาทกันจนนำไปสู่การทำลายล้างที่นำไปสู่ความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ การสร้างสันติภาพนั้นไม่จำเป็นจะต้องมาจากการก่อตั้งศาสนา ลัทธิใหม่ หรือการลบล้างศาสนาให้หมดสิ้นไป แต่มันควรจะมาจากการสร้างความเข้าอกเข้าใจกันทางศาสนา การสร้างความรู้สึกให้อภัยและผ่อนปรนทางศาสนา และการเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น และนอกจากนี้ยังมีนักปราชญ์บางท่านได้เสนอแนะวิธีการสร้างสันติภาพไว้โดยการที่ให้คนทุกคนสละละทิ้งสิ่งที่กระพี้และพยายามเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาที่ตนนับถือ เพราะว่าเมื่อใดที่มนุษย์เข้าถึงอันติมะสัจจะในศาสนาของตนได้ ความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างศาสนาต่าง ๆ ก็จะสิ้นสุดลง
อนาคตของศาสนา
ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ศาสนาต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจากลัทธิวัตถุนิยม (materialism) ความทันสมัย (modernity) และกระแสโลกิยนิยม (secularization) คำถามหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงก็คือ อนาคตของศาสนาจะเป็นเช่นไร ศาสนาจะสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งการท้าทายนี้ได้หรือไม่?
จะอย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวหน้าไปมากแค่ไหน สถาบันศาสนาก็จะยังคงอยู่คู่กับสังคม นั่นก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศาสนา ดังนั้นสังคมมนุษย์กับศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ศาสนาก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อความอยู่รอด ต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและวัตถุอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีส่วนประกอบทั้งทางด้านสสารและวิญญาณ ดังนั้นศาสนาที่จะอยู่รอดในอนาคตก็จะต้องเป็นศาสนาที่สามารถตอบสนองแก่ทั้งสองมิติของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังต้องสามารถที่จะให้คำตอบแก่ปัญหาใหม่ ๆ ของยุคสมัยได้อย่างสมเหตุสมผล มิใช่เพียงจะใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือตอบคำถามเพียงอย่างเดียว
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ ในอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับผู้นิยมแนวคิดแบบโลกิยวิสัย (secularism) จะดำเนินไปสู่ทิศทางใด จะดำเนินไปสู่ความขัดแย้งในระดับที่ไม่สามารถหันหน้าเข้าหากันได้ หรือจะดำเนินไปสู่ความประนีประนอมระหว่างกัน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มจารีตนิยม (fundamentalist) หันมาใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านพวกโลกิยนิยม ในขณะที่พวกโลกิยนิยมก็ออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิทางโลกย์ของพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการทำแท้ง รักร่วมเพศ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ขัดแย้งกับหลักคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม อนาคตที่เป็นสิ่งยากแก่การพยากรณ์ เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบทางกาลเวลา รวมถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สิ่งที่เราทำได้ก็คงจะมีแต่การเฝ้าสังเกตการณ์ต่อไปว่าศาสนาในอนาคตกาลจะดำเนินไปสู่ทิศทางใด จะดำเนินไปสู่ความตกต่ำท่ามกลางความรุ่งเรืองของโลกทัศน์แบบโลกิยวิสัย หรือจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่จะดำเนินไปสู่ความรุ่งโรจน์ในขณะที่โลกิยนิยมต้องพบกับความตกต่ำและสูญสลายไปในที่สุด?
บรรณานุกรม
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์. สังคมวิทยาศาสนา. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2525.
ณรงค์ เส็งประชา. มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2530.
บุญสนอง บุณโยทยาน. มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2518.
สันติ ตั้งรพีพากร (ผู้แปล) จอห์น ไนซ์บิต (เขียน). อภิแนวโน้มโลก. กรุงเทพฯ : โกลเบิ้ล เบรน, 2534.
แสง จันทร์งาม. ศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531.
Crawford Robert. What is Religion. London : Routledge, 2002.
Tiwari Kedar Nath. Comparative Religion. Delhi : Motilal Banarsidass, 1983.